ดูโฉนดที่ดิน
วิธีอ่านโฉนดที่ดิน ครุฑแดง
การคำนวณหาระยะที่ดินจริงจากรูปแผนที่ในโฉนดที่ดิน เราสามารถวัดจากโฉนดที่ดินได้เลย โดยเอาขนาดที่วัดได้จากโฉนด คูณกับมาตราส่วนที่ระบุไว้ในโฉนด จะเท่ากับขนาดที่ดินจริง นั้นเอง
ตัวอย่างเช่น หากมาตราส่วนในโฉนดที่ดิน เป็น “มาตราส่วน 1 ต่อ 500” และเราเอาไม้บรรทัดวัดด้านหนึ่ง(หน้าบ้าน)ของที่ดิน จากหมุดถึงหมุด วัดได้ 12 มิลลิเมตร
ดังนั้น ขนาดที่ดินหน้าบ้านที่เราอยากรู้ จะเท่ากับ 12 มิลลิเมตร x 500 = 6,000 มิลลิเมตร หรือเท่ากับ 6 เมตร นั้นเอง
สูตรเทียบมาตราส่วนในโฉนดที่ดิน แบบง่ายๆ จะได้ดังนี้
- มาตราส่วน 1 ต่อ 2000 ในโฉนด
คือ วัดโฉนดได้ 1 มิลลิเมตร = ขนาดที่ดินจริง 2 เมตร - มาตราส่วน 1 ต่อ 1000 ในโฉนด
คือ วัดโฉนดได้ 1 มิลลิเมตร = ขนาดที่ดินจริง 1 เมตร - มาตราส่วน 1 ต่อ 500 ในโฉนด
คือ วัดโฉนดได้ 1 มิลลิเมตร = ขนาดที่ดินจริง 0.5 เมตร หรือ ครึ่งเมตร
วิธีอ่านโฉนดที่ดิน ด้านหน้า
วิธีอ่านโฉนดที่ดิน ด้านหน้า
1. ตำแหน่งที่ดิน (มุมซ้ายบน)
1.1 ระวาง คือ หมายเลขของแผนที่ใหญ่ ที่โฉนดแปลงนี้ตั้งอยู่ เลขที่ระบุไว้จะเปรียบเหมือนสารบัญแสดงให้รู้ว่าโฉนดแปลงนี้ตั้งอยู่ในแผนที่ใหญ่ฉบับไหน ในระแผนที่ระวางจะเป็นแผนที่ลายเส้นที่แบ่งขอบเขตของโฉนดแต่ละแปลงในบริเวณนั้นใกล้เคียงไว้อย่างชัดเจน ระบุทางสาธารณะ ทางเข้าออกไว้ครบถ้วน ดังนั้นในการซื้อขายหรือจำนอง จำเป็นต้องมีการตรวจสอบระวางทุกครั้ง เพื่อให้ทราบการเปลี่ยนแปลงของที่ดินรอบข้างและสภาพทางในปัจจุบัน
1.2 เลขที่ดินคือ ตำแหน่งที่อยู่ของที่ดินแปลงนี้ในแผนที่ระวาง เลขที่ดินในระวางจะไม่ซ้ำ ไล่ลำดับตัวเลขไปเรื่อยๆ ในเชิงการใช้งาน เลขที่ดินจะเปรียบเหมือนที่อยู่ ช่วยให้การค้นหาตำแหน่งทำได้ง่ายและรวดเร็ว
1.3 หน้าสำรวจ คือ ตัวเลขแสดงลำดับการสำรวจในการจัดทำโฉนด ของแต่ละตำบล โดยเริ่มนับ 1 ไปเรื่อยๆ เมื่อขึ้นตำบลใหม่ก็จะเริ่มนับ 1 ใหม่ เลขสำรวจนี้จะนิยมใช้ในการสืบค้นของเจ้าพนักงานที่ดิน
1.4 ตำบล คือ ชื่อของตำบลที่ที่ดินแปลงนี้ตั้งอยู่
2. โฉนดที่ดิน (มุมขวาบน)
2.1 เลขที่คือ เลขที่ของโฉนดผืนนี้ มักใช้ในการสืบต้นข้อมูล ค้นหา และดำเนินการทำนิติกรรมต่างๆกับสำนักงานที่ดิน เลขโฉนดนี้จะเริ่มนับ 1 ในแต่ละอำเภอ หากขึ้นอำเภอใหม่ ก็จะเริ่มนับ 1 ใหม่
2.2 เล่ม..หน้าคือ เลขแฟ้มของสำนักงานที่ดิน ที่รวบรวมโฉนดของเราไว้ จัดทำขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินง่ายในการสืบค้นข้อมูล ด้านหลังจะมีตัวเลขระบุไว้ในโฉนดชัดเจนว่าอยู่หน้าที่เท่าไหร่ของแฟ้มนั้นๆ
2.3 อำเภอคือ ชื่อของอำเภอที่ที่ดินแปลงนี้ตั้งอยู่
2.4 จังหวัดคือ ชื่อของจังหวัดที่ที่ดินแปลงนี้ตั้งอยู่
3.โฉนดที่ดิน (ตรงกลางบน)
3.1 ให้แก่…สัญชาติ…อยู่บ้านเลขที…ถนน…ตำบล…อำเภอ…จังหวัด…ซอย ส่วนนี้จะเป็นข้อมูลชื่อ ที่อยู่ ของเจ้าของโฉนดคนแรกที่ทางราชการได้ออกโฉนดให้ เน้นย้ำชื่อตรงนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในปัจจุบัน (ชื่อเจ้าของคนปัจจุบันจะอยู่ด้านหลังโฉนดตรงสารบัญจดทะเบียน)
3.2 ที่ดินแปลงนี้มีเนื้อที่ประมาณ…ไร่…งาน…ตารางวา ส่วนนี้จะบอกขนาดของที่ดินแปลงนี้ แต่ต้องระวังว่าหากที่ดินแปลงนี้มีการแบ่งพื้นที่แยกโฉนดออกไป ตัวเลขตรงนี้จะไม่ได้ถูกแก้ไข ให้ยึดตามขนาดพื้นที่ล่าสุดด้านหลังโฉนดตรงส่วนสารบัญจดทะเบียนเป็นหลัก
4. รูปแผนที่ (ตรงกลาง)
4.1 ส่วนรูปภาพที่ดิน จะเป็นภาพลายเส้นแสดงรูปของที่ดิน ภาพที่แสดงในแผนที่จะเป็นภาพขนาดย่อตรงตามอัตราส่วนที่ระบุไว้ในโฉนด ในรูปภาพจะมีตัวเลขและตัวหนังสือหลักหมุดเขียนกำกับไว้แต่ละมุม และตรงกลางจะมีตัวเลขแสดงเลขที่ดินของที่ดินข้างเคียง เพื่อให้ทราบว่า ที่ดินด้านข้างเป็นที่ดินแปลงไหน
4.2 มาตราส่วน เป็นตัวเลขแสดงอัตราส่วนการย่อขนาดของที่ดินของรูปภาพ ดังนั้น หากต้องการทราบขนาดด้านกว้าง ด้านลึกของที่ดินสามารถใช้ไม้บรรทัดวัดความยาวด้านแต่ละด้านและคูณด้วยอัตราส่วนที่ระบุไว้ได้เลย ในการอ่านโฉนดในที่นี้ เราจะใช้มาตราส่วนทางด้านขวาเท่านั้น ในการวัดขนาดพื้นพี่ในโฉนด (ในตัวอย่างจะเป็น มาตราส่วน 1:500) ส่วนมาตราส่วนทางด้านซ้าย (มาตราส่วนในระวาง) จะไม่ได้ใช้ในการอ่านโฉนดนี้
4.3 ตำแหน่งทิศในโฉนดจะมีลูกศรชี้ขึ้นและระบุตัวอักษร น แสดงทิศเหนือ เพื่อให้ทราบทิศทางที่ตั้งของที่ดิน
4.4 วันที่ออกเป็นวันที่ออกโฉนดที่ดิน จะมีระบุวัน เดือน ปีพุทธศักราชไว้อย่างชัดเจน และมีลายเซ็นเจ้าพนักงานที่ดิน ลงชื่อและประทับตราราชการไว้เป็นการรับรอง
วิธีอ่านโฉนดที่ดิน ด้านหลัง
5. สารบัญจดทะเบียน
เป็นส่วนของรายละเอียดเกี่ยวกับ สารบัญจดทะเบียน หรือเรื่องราวความเป็นมา การเปลี่ยนโอนกรรมสิทธิ์ ภาระผูกพันในที่ดิน จากอดีตจนถึงปัจจุบัน และในบรรทัดสุดท้ายจะระบุเจ้าของกรรมสิทธิ์ในปัจจุบัน โดยด้านหลังโฉนดอาจมีหลายหน้าได้ แต่ละหน้าจะมีเลขที่หน้าระบุไว้ และจะต้องมีตราประทับรับรองพร้อมลายเซ็นของเจ้าหน้าที่พนักงานรับรองไว้ทุกหน้า สารบัญจดทะเบียนจะแบ่งเนื้อหาออกเป็นส่วนๆในตาราง ดังนี้
5.1 จดทะเบียน วัน เดือน ปี เป็นวันที่ที่ทำนิติกรรมนั้นๆ ณ สำนักงานที่ดิน
5.2 ประเภทการจดทะเบียน ระบุประเภทนิติกรรมที่มาทำ ณ สำนักงานที่ดินในวันนั้นๆ อาทิเช่น ซื้อ, ขาย, ปลอดจำนอง, จำนอง, การให้, โอนมรดก, ภาระจำยอม เป็นต้น
5.3 ผู้ให้สัญญาคือ ผู้ที่มาทำการจดให้ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมนั่นเอง
5.4 ผู้รับสัญญาคือ ผู้ที่มารับสัญญาต่อ หรืออาจกล่าวได้ว่า คือเจ้าของกรรมสิทธิ์คนใหม่นั่นเอง
5.5 เนื้อที่ดินตามสัญญา เป็นเนื้อที่ดินตามโฉนด ในการทำนิติกรรมสัญญาในวันนั้นๆ
5.6 เนื้อที่ดินคงเหลือ เป็นพื้นที่ที่ดินในโฉนด หน่วยเป็นไร่ งาน ตารางวา ซึ่งเป็นพื้นที่ดินคงเหลือของโฉนดแปลงนี้ในปัจจุบัน ณ วันทำสัญญานั้นๆ พื้นที่โฉนดส่วนนี้อาจเหลือไม่ตรงกับพื้นที่ในโฉนดหน้าแรกได้ เนื่องจากโฉนดอาจมีการแบ่งหรือรวมกับพื้นที่โฉนดอื่น ให้ยึดตามพื้นที่ดินคงเหลือในส่วนสุดท้ายของสัญญาเป็นหลักเสมอ
5.7 ระวางเลขที่ดินโฉนดที่ดินใหม่ จะมีการระบุเลขในช่องนี้ หากมีการปรับปรุง/แก้ไข ระวาง
5.8 เจ้าพนักงานที่ดินลงลายมือชื่อ ประทับตรา ในการทำนิติกรรมสัญญาในแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่รับเรื่องจะต้องลงชื่อและประทับตราราชการระบุไว้ทุกครั้ง กรณีมีปัญหา หรือต้องการทวนสอบประวัติของที่ดิน จะสามารถสอบถามกับเจ้าหน้าที่ที่รับทำเรื่องในครั้งนั้นๆได้
5.9 มีใบต่อแผ่นที่….ในกรณีที่โฉนดที่ดิน มีการโอน/เปลี่ยนชื่อผู้ถือครอง มาหลายครั้งแล้ว หน้าสารบัญจดทะเบียน มีการจดทะเบียนหลายครั้ง อาจทำให้จดทะเบียนไม่เพียงพอให้หน้าเดี่ยว จะมีการเพิ่มหน้าจดทะเบียนไปอีก ซึ่งจะมีการระบุเลขหน้าที่ตำแหน่งนี้